วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สอนลูกออมทรัพย์

สอนลูกออมทรัพย์
     คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกน้อย นอกจากจะหมั่นอบรมสั่งสอนให้ลูกเป็นคนดี และเฝ้ามองลูกน้อยเติบโตอย่างมีพัฒนาการ ทั้งทางด้านสติปัญญาและอารมณ์แล้ว สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม คือ การปลูกฝั่งให้ลูกรักมีวินัยในการใช้จ่าย สอนให้ลูกรักมีความรู้ และฉลาดในเรื่องเงินทอง การใช้จ่าย การเก็บออม ซึ่งจะมีความสำคัญต่ออนาคตของลูกรักมากทีเดียวค่ะ
    
คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่านอาจจะเคยพบเห็น หรือมีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับผู้ที่มีหนี้อย่างล้นพ้นตัว แม้ว่าผู้ที่เป็นหนี้นั้นจะมีงานที่มีรายได้เป็นอย่างดี เพราะว่าการเป็นหนี้นั้นสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุหลายประการ เช่น การใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยแบบเกินตัว การประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้รายได้ที่เคยได้รับลดน้อยไปกว่าเดิม แต่ภาระค่าใช้จ่ายกลับมิได้ลดลง หรือประสบกับเหตุการณ์ที่ต้องใช้เงินจำนวนมากอย่างกะทันหันมากกว่าเงินออมที่มี และรายได้ที่ได้รับ เหตุแห่งหนี้สินต่าง ๆ นี้ทำให้หลาย ๆ คนต้องมีความทุกข์กับการแบกรับหนี้สินที่เกิดขึ้น
    
ดังนั้นการปลูกฝังให้ลูกรักมีนิสัย "รู้รับ รู้จ่าย รู้ออม" นั้นจะช่วยป้องกัน หรือช่วยบรรเทาเหตุแห่งหนี้สินต่าง ๆ ได้ ในเวลาที่ลูกรักยังเด็ก พ่อแม่ควรซื้อกระปุกออมสิน และสอนให้ลูกรักได้รู้จักวิธีการออมเงินโดยการหยอดเงินลงไปในกระปุกออมสิน และเมื่อถึงเวลาหนึ่งก็นำเงินไปใช้ตามความตั้งใจ เช่น ไปฝากธนาคาร ไปซื้อหนังสือเล่มโปรด หรือไปทำบุญ นอกจากการหยอดกระปุก พ่อแม่ยังสามารถพูดคุยกับลูกรักให้ได้รู้จักเงินในแง่มุมต่าง ๆ เช่น เงินใช้ทำอะไรได้บ้าง ต้องทำงานจึงจะได้เงินมา เงินออกดอกเหมือนต้นไม้ได้ด้วยหรือ
    
การพูดคุย และการสอนลูกรักเรื่องเงินทองนั้น สามารถสอดแทรกเข้าไปในกิจกรรรมต่าง ๆ ที่ทำระหว่างวันได้เช่นกัน เมื่อพาลูกรักออกไปซื้อของในตลาด หรือซูปเปอร์มาร์เกต สำหรับเด็กเล็ก ๆ นั้นนอกจากการสอนให้เด็กได้รู้จักสินค้า ผัก ผลไม้ประเภทต่าง ๆ แล้ว การสอนให้ลูกรักรู้จักดูราคาของสินค้านั้น ๆ ว่ามีราคาเท่าไหร่ ก็จะช่วยให้เด็กได้ฝึกอ่านตัวเลข รู้จักหลักหน่วย หลักสิบ หลักร้อย รวมถึงการสอนให้รู้จักถูกหรือแพง สำหรับเด็กโตขึ้นมาหน่อยก็สามารถพูดคุยกับลูกถึงราคา และการเลือกซื้อผักผลไม้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล หรือการแข่งกันคาดเดาราคารวมของสินค้าที่ซื้อทั้งหมด ก็เป็นการฝึกฝนทักษะทางคณิตศาสตร์และความเพลิดเพลินระหว่างรอการจ่ายเงินค่ะ
    
นอกจากนี้ยังมีเคล็ด(ไม่)ลับดี ๆ เกี่ยวกับการสอนให้ลูกน้อยที่แสนน่ารักน่าชังของคุณพ่อคุณแม่ รู้จักการเก็บออมงินได้อย่างแยบยลด้วย ดังนี้
    
1. คุยเรื่องเงินให้ลูกเห็น  สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ทำการค้า เมื่อถึงเวลาเคลียร์เงินขึ้นมาให้ขจัดอารมณ์ร้อน ๆ ที่เกิดจากการทุ่มเถียงกับลูกค้าเรื่องต่อรองราคา หรือเรื่องอื่น ๆ ออกไปก่อนแล้วคุณพ่อคุณแม่ก็คุยเรื่องตัวเงินอย่างชัดเจนให้ลูกฟังด้วย เขาจะได้เรียนรู้การจัดการเรื่องเงิน
    
2. อย่าโกหกลูกเรื่องเงิน  เวลาคุณพ่อหรือคุณแม่ไปซื้อของซึ่งสินค้าเหล่านั้นมีราคาแพงแล้วแอบอุ๊บอิ๊บกับลูกว่าอย่าไปบอกพ่อหรือแม่นะ ถือว่าคุณพ่อคุณแม่กำลังสอนให้ลูกโกหกเรื่องเงิน เป็นการสร้างจิตสำนึกที่ผิด เพราะคุณพ่อคุณแม่กำลังสอนให้ลูกน้อยมีพฤติกรรมเลียนแบบการโกหกจากคุณพ่อคุณแม่ เมื่อพ่อแม่ทำได้ลูกเองก็สามารถทำได้ด้วยเช่นกัน
   
  3. รับจ้างทำงานบ้าน  คุณพ่อคุณแม่อาจแนะวิธีหาเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ลูกด้วยการมอบหมายงานพิเศษให้ลูกทำโดยที่เราไม่ต้องไปจ้างคนอื่น เช่น ตัดหญ้า ทิ้งขยะ จ่ายค่าจ้างลูกเป็นครั้งคราวไป แต่ว่าต้องยืนยันกับเขาด้วยว่างานบ้านอย่างอื่นข้าก็ต้องช่วยโดยไม่ได้เงิน เพราะเป็นหน้าที่ของสมาชิกในบ้าน
    
4. เก็บเงินซื้อของ  คุณพ่อคุณแม่ควรซื้อกระปุก หรือพาลูกไปเปิดบัญชีให้เก็บเงินด้วยตนเอง โดยที่เราอาจจะให้เงินค่าขนมเกินไว้ประมาณ 10-20 บาทต่อวัน เพื่อสนับสนุนให้เขาเก็บเงินซื้อของที่อยากได้ด้วยตัวเอง
    
5. รู้รายรับรายจ่ายของบ้าน อธิบายให้ลูกฟังง่าย ๆ ว่ารายรับมาจากพ่อและแม่ช่วยกันทำงานได้ประมาณเดือนละเท่าไหร่ ส่วนรายจ่ายมีอะไรบ้าง เช่น ค่าเทอม ค่าไฟ ให้ลูกเห็นภาพรวม จะได้ช่วยประหยัดรายจ่ายภายในบ้าน
    
6. สอนลูกช้อปปิ้ง  เวลาไปซื้อของที่ซูปเปอร์มาร์เกต ห้างสรรพสินค้า หรือตลาดสดใกล้บ้าน คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกช่วยดูสินค้าตามโพยที่ได้จดมา โดยเปรียบเทียบราคา และปริมาณ นอกจากนั้นยังช่วยให้ไม่ซื้อสินค้านอกเหนือรายการได้ด้วย
    
7. เรียนรู้เรื่องบัตร  บางครั้งเด็กที่โตแล้วมักอยากรู้ว่ามีอะไรในกระเป๋าสตางค์คุณพ่อคุณแม่บ้าง ควรสอนให้ลูกเรียนรู้การทำงานของบัตรเครดิตว่าอำนวยความสะดวกสิ่งใดให้เราได้บ้าง และข้อเสียที่จะตามมาเมื่อใช้จนเกินความจำเป็น รวมทั้งบัตรส่วนลดอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ด้วย
   
  8. โฆษณาสอนลูก  สอนให้ลูกรู้เท่าทันโฆษณาต่าง ๆ อย่างเช่น ชวนดูโฆษณาที่เน้นให้เห็นจุดเด่นของสินค้ามากเกินไป เช่น นมที่กินแล้วจะเก่งหรือฉลาด ของเล่นที่แปลงร่างได้เยอะเป็นการชวยเชื่อให้ซื้อสินค้า ให้ลูกตระหนัก และอย่าหลงเชื่อกับอิทธพลโฆษณา
    
สำหรับเคล็ด(ไม่)ลับ ที่ได้นำเสนอทั้งหมดนี้เป็นวิธีหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของแต่ละครอบครัว เป็นการสอนให้ลูกรักสามารถควบคุมการใช้เงิน สร้างวินัยในการออม เพื่ออนาคตที่ดีของลูกรัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น